ฟาร์มกวางภักดีฟาร์ม ที่รักไท เนินมะปราง !!!
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการร่วมเปิดงาน”น้ำตกไผ่สีทอง” ที่บ้านตอเรือ ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ต่อมาคณะผู้ว่าฯ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและสื่อมวลชนได้ เดินทางต่อไปชิม สเต็กกวาง ที่”ภัคดีฟาร์ม” ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งถือว่า ฟาร์มเลี้ยงกวางแห่งแรกและแห่งเดียวของพิษณุโลกโดยนายจักริน ผู้ว่าฯพิษณุโลก พร้อมหัวส่วนราชการต้องใช้เวลารับประทานสักพัก เนื่องจากสเต็กเนื้อกวางต้องใช้เวลาปรุงให้สุกทีละจาน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กินเนื้อกวางตัวเป็นๆจริงหรือไม่
“หลายคนมองว่า การบริโภคเนื้อกวาง เป็นการรับประทานกินสัตว์ป่าสงวนหรือทารุนสัตว์ จริงๆแล้ว ยุคสมัยเปลี่ยนไป การบริโภคเนื้อกวางถูกเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ผ่านโรงงานชำแหละอย่างถูกต้อง ลึกๆแล้ว ผู้เลี้ยงกวางทุกคนต้องการให้หยุดล่าสัตว์ป่า ผู้บริโภคควรหันกินเนื้อสัตว์เศรษฐกิจดีกว่าล่าสัตว์” นายภักดี-พิสิฐพล พานุรัตน์ สองพี่น้องผู้บุกเบิกภักดีฟาร์ม
นายภักดี พานุรัตน์ เจ้าของฟาร์มเลี้ยงกวาง กล่าวว่า ผมเดินทางมาที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกก็ถูกใจ เดิมแดนแห่งนี้ มีแต่ชาวไร่ มีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด เดิมทีไม่มีสวนยางพารา จึงตัดสินใจบุกเบิกที่ดินทำเป็นสวนปศุสัตว์ เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง อากาศเหมาะสม จึงลองเลี้ยงกวางพันธุ์รูซ่า ดูเมื่อปี 2546 เริ่มแรกเลี้ยงครั้งแรก 17 ตัว ปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 150 ตัว จากนั้นมาก็ เลี้ยงทั้งรูซ่าและสายพันธุ์ดาวินเดียร์(สวยงาม)ไม่ยาก มีหญ้าให้กินต่อเนื่อง ประสพปัญหาเพียงช่วงฤดูแล้งเท่านั้น อาหารหายาก
จุดเด่นสรรพคุณ”เขากวางอ่อน”เคยทดลองให้หนูขาวที่หมดวัยเจริญพันธุ์กิน พบว่า หนูขาวสามารถผสมพันธุ์ได้เรื่อยๆและมีน้ำหนักอัณฑะมากและตัวสเปริมวิ่งเร็วกว่า ดังนั้นถ้าผู้ชายรับประทาน จะช่วยเพิ่มพลัง เหมือนยาโด๊ป ทำให้เลือดหมุนเวียนในระบบดี แต่ไม่เหมือนไวอาก้าแน่นอน
นอกจากนี้เขากวางอ่อน อุดมด้วยโปรตีนที่เป็นคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อเต่งดึง หญิงที่อายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรืออายุ 12 ปีขึ้นไป เริ่มขาดแคลเซียม เขากวางอ่อน ช่วยได้ สามารถยับยั้ง ชะลอความแก่ได้เหมือนกับยาอายุวัฒนา บริโภคได้มาก โดยไม่มีผลข้างเคียง แต่ข้อเสียคือ แพง
การเลี้ยงกวางรูซ่า มีเป้าหมาย 2 ทางเลือก คือ 1. เขาอ่อน และ 2. เนื้อ เมื่อกวางอายุ 3 ปีขึ้นไป คนเลี้ยงจะทราบแล้วว่า กวางตัวใด ควรมีไว้เอาเขาอ่อนหรือเลี้ยงขุนไว้เอาเนื้อ กวางเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงกินพืชล้วนๆเป็นสารอาหารธรรมชาติ ไม่มีการเร่งเนื้อแดง อาหารหลักๆ คือ หญ้า ใบไม้แห้ง หญ้ารูซี่ อาหารเม็ดเสริม ต้นทุนการเลี้ยง 3,500 บาทต่อปีต่อตัว หากเทียบจากกวาง 1 ตัวกินอาหารเพียง 10 % ของน้ำหนัก ราคาหญ้ากิโลกรัมละ 1 บาท ดังนั้นระยะ 2-3 ปีลงทุนประมาณ 7 พันบาท สามารถให้ผลผลิต 2-3 หมื่นบาทต่อตัว
กวางรูซ่า ตัดเขาขายไปเรื่อยๆจนหมดอายุขัย การตัดเขา มีอุปกรณ์ใบมีดเลื่อยเขา ไม่ทรมานสัตว์ ตัดเหมือนเล็บ ยาวก็ตัดออก แล้วงอกขึ้นมาใหม่ จากนั้นแช่ตู้แช่แข็ง รอส่งขาย ถือว่า เป็นชิ้นส่วนที่แพงสุดของกวาง
นายพิสิฐพล พานุรัตน์กล่าวเสริมอีกว่า ทำฟาร์มถือว่าเป็นการลงทุนเลี้ยงกวางเชิงพาณิชย์จริงๆ แต่ไม่เห็นด้วยกับคนมีเงิน แต่ไม่มีเวลาเลี้ยง กลับลงทุนเหมือนธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ถูกโฆษณาชวนเชื่อ เคยมีคนลงทุนไปแล้วคนละ 5-7 แสนบาท อ้างเป็นคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ลักษณะจ่ายเงินเพื่อซื้อกวาง จ่ายแรงงานเลี้ยง รอเก็บเกี่ยวผลผลิต ถือว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นธุรกิจที่เสี่ยง สักวันหนึ่งธุรกิจสามารถล้มได้
การเลี้ยงกวาง สายพันธ์รูซ่าเพื่อเชิงพาณิชย์ แต่กวางดาววินเดียร์ เลี้ยงเพื่อความสวยงาม ที่ฟาร์มภักดีฟาร์มแห่งนี้ ถือเป็น 1 ใน 52 ฟาร์มทั่วประเทศที่มีปริมาณ 1 หมื่นตัวทั่วประเทศ แต่ที่พิษณุโลกถือว่า มีแห่งเดียว ขณะที่ประเทศจีนเลี้ยงกวาง 3 ล้านตัว ถือว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องจากคนจีนและคนรัสเซียชอบบริโภคเขากวางอ่อน อีกทั้งเป็นส่วนผสมของยาจีนหลายชนิด
นายภักดี พานุรัตน์ เจ้าของฟาร์มภักดีฟาร์ม กล่าวว่า”เนื้อวัว”นุ่มเพราะไขมัน แต่”เนื้อกวางนุ่ม”เพราะเนื้อละเอียด ถือเป็นอาหารที่ไม่มีไขมัน อาหารรักสุขภาพ สเต็กกวางทั่วๆไป นำหนัก 2 ขีด จำหน่ายจานละ 500 บาท อย่างไรก็ตาม ตนกำลังจะเปิดสเต็กเฮ้าส์และร้านกาแฟ บริเวณริมถนนสาย 12 พิษณุโลก- หล่มสัก บริเวณน้ำตกแก่งซอง อ.วังทอง เร็วๆนี้ ก่อนปีใหม่นี้แน่นอน โดยนำสเต็กที่ฟาร์มผ่านการชำแหละยังโรงงานมาตรฐานราชบุรีย้อนกลับมาให้บริโภค ส่วนผู้ที่จะเข้าชมฟาร์มสามารถชมได้ แต่ยังไม่ได้เปิดรับอย่างเป็นทางการ อาจทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ขับขี่จักรยานรอบๆฟาร์มชมกวางในอนาคตได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.phitsanulokhotnews.com
องค์การบริหารส่วนตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
โทรศัพท์: 055-992233
กลุ่มคนรักเนินมะปราง https://www.facebook.com
0 ความคิดเห็น